5 เคล็ดลับจูงสุนัขอย่างปลอดภัย
เรื่องจูงสุนัขนั้นหลายท่านคงคิดว่าเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย ใคร ๆ ก็น่าจะทำได้อย่างไม่มีปัญหา แต่เชื่อหรือไม่ว่าจากการสังเกตของเคสที่พาสุนัขมารักษาที่โรงพยาบาลนั้น พบว่ามีเพียงไม่เกิน ๒๐% ที่สามารถจูงสุนัขมาได้อย่างราบรื่น นอกนั้น จะอุ้มใส่กระเป๋ามาโดยเฉพาะหากเป็นสุนัขขนาดเล็ก หรือขนาดกลาง
สำหรับสุนัขโตนั้น ส่วนหนึ่งก็ไม่ได้จูงมา แต่กลับเป็น”ลาก” มาแทน ซึ่งบางครั้งก็เกิดปัญหา”หมาหลุด” ขึ้น ต้องวิ่งไล่จับกันอย่างโกลาหล เคราะห์ดีก็จับได้ แต่เคราะห์ร้ายก็มี ตั้งแต่โดนรถชนแบบเล็กน้อยคือ”เฉี่ยวชน” จนถึงแบบร้ายแรงคือ”ถูกรถทับ” หรือพลัดหลงหายไปเลยก็มี และที่สำคัญไปกว่านั้นโดยเฉพาะคนกทม.ก็คือ กรุงเทพมหานครได้ออกกฎควบคุมการเลี้ยงสุนัขในเขตเมืองหลวงว่า ในกรณีเจ้าของสุนัขหรือผู้ครอบครองสุนัขรายใดจะพาสุนัขออกนอกบ้าน เจ้าของสุนัขดังกล่าวจะต้องใช้สายจูงควบคุมสุนัขตัวนั้นตลอดเวลาที่สุนัขอยู่นอกบ้าน นั่นคือการจูงสุนัขถือเป็นกฎหมาย หากฝ่าฝืนก็จะมีความผิด ถูกปรับเงินด้วย
ถึงแม้การจูงสุนัขจะเป็นกฎหมายแต่โดยจริงแล้ว การจูงสุนัขคือ “กฎของความปลอดภัย” ของตัวสุนัขของเราเองจากอุบัติภัยต่าง ๆ ที่ว่ามาแล้วยังถือเป็นการป้องกันอุบัติภัยให้แก่คนอื่น ๆ จากสุนัขของเราอีกด้วย
ดังนั้น เลี้ยงสัตว์อย่างมี e.q. ขอเสนอเรื่องราวของการจูงสุนัขอย่างถูกวิธี ซึ่งไม่ได้อยากเย็นอะไรเลย ซึ่งมีเคล็ดลับในการจูงสุนัขอย่างปลอดภัย ๕ ข้อ ดังนี้
เคล็ดลับข้อที่ ๑ : ฉลาดเลือกสายจูงให้ถูกวิธี
สายจูงสุนัขที่ถูกต้องควรทำจากหนังหรือไนล่อน เพราะจะได้ไม่เจ็บมือเวลาจูง หลายคนมักใช้โซ่ล่ามสุนัขมาแทนสายจูงก็จะทำให้รู้สึกเจ็บมือ โดยเฉพาะเวลาสุนัขวิ่งก็จะทำให้ต้องออกแรงจับโซ่จูง ก็ยิ่งเจ็บมือใหญ่ที่สำคัญคือ สายจูงจะต้องแข็งแรงเพียงพอที่จะควบคุมสุนัขได้ ไม่ใช่สุนัขเบ้อเริ่มเทิ่ม แต่ใช้สายจูงลูกสุนัขมาจูง ก็อาจขาดได้
เคล็ดลับข้อที่ ๒ : ใช้ปลอกคอสำหรับจูงโดยเฉพาะ
โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ปลอกคอที่เรานิยมสวมใส่ให้สุนัขนั้น ไม่ได้มีไว้จูงแต่มีไว้สำหรับแขวนป้ายชื่อหรือเหรียญกันบ้าเท่านั้น ดังนั้น จึงขอเสนอให้ทุกท่านใช้ปลอกคอสำหรับจูงโดยเฉพาะ ซึ่งทำจากโซ่ที่สามารถเลื่อนขึ้นลงได้ บางทีเรียก “โซ่คอ” หรือ “โช้คเชน” (CHOKE CHAIN/TRAINING COLLAR) โดยความยาวของโซ่คอนั้น เมื่อสวมใส่แล้วควรมีความยาวของปลายโซ่เมื่อดึงตึงไม่ต่ำกว่า ๓ นิ้ว และควรมีน้ำหนักเบาไม่หนักเกินไป โดยเฉพาะถ้าใช้จูงลูกสุนัขหรือหมาพันธุ์เล็ก ๆ
เคล็ดลับที่ ๓ : ใส่โซ่คออย่างถูกวิธี
เมื่อได้อุปกรณ์การจูงครบแล้ว เคล็ดลับข้อต่อมาก็คือ การใส่โซ่คออย่างถูกวิธีโดยโซ่คอที่ใช้จะต้องเลื่อนลงได้เมื่อไม่ได้ดึง โซ่คอจะเป็นรูปตัว P เหตุที่ต้องใส่เป็นรูปตัว P ก็เพื่อให้สามารถควบคุมสุนัขได้ ในกรณีที่สุนัขวิ่งเตลิดไป โซ่คอนี้ก็จะรูดกระชับเข้ากับตัวสุนัขทำให้ไม่หลุดหายและจะรูดลง เมื่อสุนัขอยู่เรียบร้อยในสายจูง ที่สำคัญคือ โซ่คอนี้จะใช้สำหรับเวลามีภารกิจจูงสุนัขหรือฝึกสุนัขเท่านั้น ถ้าอยู่บ้านเฉย ๆ ก็ไม่ต้องใส่เด็ดขาด
เคล็ดลับข้อที่ ๔ : จูงหมาต้องฝึก
ไม่ใช่สุนัขทุกตัวจะเชื่องกับสายจูง หรือเดินไปไหนมาไหนภายใต้สายจูงได้เลยเราจำเป็นต้องฝึกก่อน เริ่มจากการฝึกจูงข้อแรก คือห้ามสุนัขเดินแซงหน้าเราเด็ดขาด จะต้องเดินข้าง ๆ เราเท่านั้น ซึ่งถ้าสุนัขเดินหรือวิ่งแซงหน้าไปก็จะต้องดึงรั้งสายจูงเข้ามา หรือถ้าสุนัขไม่ยอมเดินเคียงคู่กับเราก็ต้องจัดการเช่นกัน แต่ขอย้ำว่าไม่ควรใช้ความรุนแรง แต่หันมาใช้ความนุ่มนวลหรือขนมสุนัขเป็นตัวช่วย(รายละเอียดเพิ่มเติมให้ปรึกษาจากครูฝึกสุนัขทั้งหลายนะครับ)
เคล็ดลับข้อที่ ๕ : เปลี่ยนมาใช้สายรัดอกถ้าจำเป็น
ในบางกรณี โซ่คออาจไม่เหมาะกับสุนัขของเรา ก็ขอแนะนำให้ใช้ “สายรัดอก” มาสวมใส่ให้สุนัขและใช้สายจูงล่ามกับสายรัดอกแทนก็ได้
Comments
Post a Comment